หลังจากเขียนเรื่องทุกข์ สมุทัย (ต้นเหตุแห่งทุกข์) ไปคราวที่แล้ว ก็มีเสียงเชียร์ให้เขียนเรื่อง "นิโรธ (ความดับทุกข์) และ มรรค (วิธีดับทุกข์) วันนี้เลยมาต่อ

(อ่านเรื่อง ทุกข์ สมุทัย ได้ที่นี่)
https://www.primmalikul.com/how-to-cope-with-suffering/

นิโรธ คือภาวะที่ดับทุกข์ ภาวะที่จิตใสกระจ่างอยู่เหนือความเป็นไปทั้งปวง

มันอาจเป็นภาวะที่อธิบายยาก แต่ท่านยงเก มินจูร์ รินโปเช ผู้เขัยนหนังสือ "เบิกบานด้วยปัญญา (Joyful Wisdom)" เปรียบเทียบว่า มันเป็นเสมือนลูกแก้วที่สะท้อนภาพอะไรก็ได้ ถ้าวางไว้ในห้องสีแดง มันก็จะสะท้อนสีแดง หรือถ้าเอาผ้าคลุมไว้ มันก็จะสะท้อนสีของผ้านั้น ไม่ว่ามีอะไรผ่านเข้ามา ก็ไม่สามารถทำลายศักยภาพที่ใสกระจ่าง และสะท้อนทุกอย่างของลูกแก้วนั้นได้

การรู้ว่าเราทุกคนมี "โพธิจิต" อยู่ในตัว หรือศักยภาพในการบรรลุธรรมนั้น ท่านรินโปเช ให้คำนิยามไว้ว่าเป็น "การพยากรณ์โรคเชิงบวก" นั่นคือ ทุกข์ทั้งหลายสามารถหายไปได้ ด้วยเครื่องมือที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด นั่นคือจิต หรือท่านรินโปเชบอกว่า "สัมปชัญญะ" ที่ใสกระจ่างนั่นเอง

ท่านยกตัวอย่างวินาทีที่เราเข้าถึงพุทธะไว้ว่า เหมือนตอนเราไปเห็นแกรนด์ แคนยอน อันอลังการครั้งแรก แล้วเต็มไปด้วยความท่วมท้น "อา...มันช่างสวยเหลือเเกิน" แต่คำว่า "สวย" เฉยๆ ไม่อาจรวมเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เราได้รับตอนไปยืนอยู่ตรงนั้นเป็นครั้งแรกได้ นิโรธก็เหมือนกัน มันเป็นภาวะที่ยากจะอธิบาย เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า นิโรธมี 3 ลักษณะ

  1. รู้ - เป็นภาวะที่รู้ทุกอย่างได้ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต
  2. ตื่น - เป็นภาวะที่ยกระดับจิตใจสรรพสัตว์ได้อย่างไม่มีประมาณ ทำให้สรรพสัตว์บรรลุถึงภาวะนี้ตามไปด้วยได้
  3. เบิกบาน - มีความเมตตา กรุณา อันไม่มีทีสิ้นสุด

แต่พอเขียนมาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่า "อ้าว ทำไมแต่ละวันฉันกลับรู้สึกหม่นหมอง ไม่ได้ รู้ ตื่น เบิกบาน แบบนั้นสักหน่อย แค่จะมองหาเรื่องดีๆ ยังยาก"

ในจุดนี้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า ธรรมชาติของจิตมีความยึดมั่นถือมั่น (หรือเรียก อุปปาทาน)
จึงทุกข์เพราะความยึดมั่นอันนั้น ความยึดมั่นถือมั่นเป็นเสมือนเมฆที่ลอยมาบังท้องฟ้าและพระอาทิตย์ แต่จริงๆ พื้นจิตเดิมของเราเหมือนท้องฟ้าและพระอาทิตย์ คือมันอยู่ตรงนั้นเสมอ แม้จะมีเมฆมาบังบ้าง

การเข้าถึงนิโรธได้ ไม่ใช่ภาวะที่เรานิ่งเฉย ในหัวว่างเปล่า แต่เป็นภาวะที่เรารู้ทุกสิ่งตามที่มันเป็นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) หรือมองเห็นทุกข์ก็ตาม เรียกได้ว่า เพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่น เราจึงมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรม

มรรค - หนทางดับทุกข์

ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงมรรคว่า เป็น 3 กระบวนการ

นั่นคือ ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

ละชั่ว ทำดี คือ พยายามรักษาจิตในด้านบวก อาจทำได้ด้วยการมองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของปรากฏการณ์ด้านลบที่เข้ามากระทำ เช่น ถ้าเราโกรธใครสักคน เราอาจสืบสาวหาที่มาที่ไปว่า ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คนคนนั้นทำไม่ดีต่อเรานั่น มันโยงใยกันซับซ้อน และเหนือการควบคุม นอกจากนั้น ที่เราโกรธ (Triggered) เพราะเรามีพื้นความทรงจำเดิมๆ บางอย่าง ที่เราไม่รู้ว่ามีเช่นกัน พอปัจจัยทุกอย่างรวมกันแบบสอดคล้องพอดี เราก็เลยโกรธ ซึ่งมันก็เหนือความควบคุมของเรา เพราะเราไม่อาจบังคับสิ่งใดให้เป็นตามใจล่วงหน้าได้

นอกจากนั้น ในพุทธแบบวัชรญาณในแบบของท่านรินโปเช มักให้ความสำคัญกับการเจริญเมตตาภาวนา มีการสอนทำ "ทองเลน" คือจินตนาการว่าตัวเรารับเอาความทุกข์ของสรรพสัตว์เอาไว้ เหมือนการดูดพิษร้ายมาไว้ในตัว และแปรเปลี่ยนให้มันเป็นความรัก

ในส่วนของการทำใจให้ผ่องใส ในแง่นี้ คือ มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งในสิ่งที่ดีและไม่ดี คือ มองเห็นว่ามันผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป โดยไม่ยึดติด

พอถึงตรงนี้มีเรื่องเล่า นั่นคือ พริมเคยคุยกับพี่คนนึง ซึ่งป่วยด้วยโรคเจ็บขาอย่างทรมานมาก

พี่คนนั้นทนเจ็บอยู่นาน ยาทีให้ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือจ้องไอ้ความเจ็บนั้นตรงๆ

ปรากฎว่ามันมี Moment ที่ความคิดในหัวผุดขึ้นมาว่า "เออ ขา มันเจ็บ งั้นถ้าตัดออกมันคงหาย ต่อไปนี้ฉันถือว่ามันไม่ใช่ของฉัน"

พอคิดได้แบบนั้น กลับรู้สึกโล่งสบาย เริ่มกินข้าวได้ ร่างกายเริ่มฟื้นฟู

ภาวะนั้นเองคือการละ "อุปปาทาน" หรือการยึดมั่นถือมั่น ว่าทุกสิ่งเป็นของเรา หรือถ้าพูดแบบท่านพุทธทาสก็คือ ไม่มีอะไรน่าให้เป็น ให้เอา เลยสักอย่าง (รวมถึงความสุขด้วย เพราะเข้ามาแล้วก็หายไป)

การละอุปปาทานได้ ไม่ใช่จะทำให้เราไร้อารมณ์ กลายเป็นหุ่นยนต์อะไรแบบนั้น แต่เราจะเข้าถึง "ความสงบ" ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริง

เพราะจริงๆ แล้ว นิพพานอยู่ตรงนี้มาตลอด เราเองเสมือนคลื่นในมหาสมุทรที่ไม่รู้ตัวว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรด้วย จนเมื่อเรารู้ตัวว่าเราคือองค์รวมนั่นเอง ที่นิพพานเกิด (และใช่ เราเป็นทั้ง Individual และ Wholeness ดังนั้นปรากฏการณ์ต่างๆ ก็จะยังผ่านเข้ามาในมโนวิญญาณ หรือความรับรู้ของเราเช่นเคย ไม่ใช่ว่าหัวสมองโล่งไปหมด หรือปิดการรับรู้ไปทั้งหมด)

บทความต่อไปอาจจะเขียนเกี่ยวกับ สมถะ กับ วิปัสสนา ในฐานะเครื่องมือของพุทธศาสนาที่ช่วยดับทุกข์ค่ะ