หลายคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับหลักธรรมทางพุทธศาสนา ย่อมรู้ว่า ข้อแรกของอริยสัจ 4 หรือ ความจริงของสรรพสิ่ง คือ "ทุกข์"

พอเจอแบบนี้หลายคนก็จอด ไม่อยากศึกษาต่อ เพราะรู้สึกว่า ทำไมพุทธศาสนาถึงมองโลกในแง่ร้ายจัง ชีวิตมีอะไรสวยๆ งามๆ ให้ดูมากมาย แต่ทำไมพูดถึงแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์!(เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น)

จนเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ศึกษางานเขียนของท่าน ยองเจ มิงยูร์ รินโปเช พระสายธิเบตท่านหนึ่ง ที่ผลงานติดอันดับ New York Times มาแล้ว

เลยพบว่า เฮ้ย มันไม่ได้น่าหดหู่แบบนั้น! พระพุทธเจ้าแค่เอาความจริงมาพูดว่า "ทุกข์มีอยู่" ไม่ได้บอกว่าการใช้ชีวิตเป็นทุกข์ (ไม่งั้นท่านจะพูดถึงการดับทุกข์ กับหนทางแห่งการดับทุกข์ทำไมกัน?!)

คำว่า "ทุกข์มีอยู่" หมายความว่า มันเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง เป็นการพูดในลักษณะกลางๆ ไม่ได้ประณามว่าการเป็นทุกข์นั้นชั่วร้าย หรือควรถูกกำจัด

เหมือนกับการที่เรามีแขนสองข้าง มีตาสองข้าง นั่นแหละ คำว่า "ทุกข์มีอยู่" มีลักษณะกลางๆ เหมือนบอกว่ามนุษย์มีตาสองข้างนั่นเอง

แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงสนใจกับเรื่องทุกข์ และการดับทุกข์? นั่นเป็นเพราะว่า คนเรา เวลาใช้ชีวิตอยู่ ณ บัดนี้ ไม่รู้ธรรมชาติของชีวิต นั่นคือ เราคิดว่าเราจะสามารถ "ยั้งทุกสิ่งไม่ให้เปลี่ยนแปลง" หรือ "อยากให้อะไรเปลี่ยนแปลงไวๆ" อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยเลยที่เราจะ "พอใจ" กับสิ่งที่มีได้

ยกตัวอย่างการซื้อรถใหม่ สมมติเราซื้อรถ BMW คันใหม่ เราทะนุถนอมมันมาก เพราะเป็นผลจากน้ำพักน้ำแรง เรานำรถไปวิ่ง แล้วรถก็เสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา เราก็มาเป็นทุกข์ เพราะของดีๆ ในวันนั้น กลายเป็นของที่เสื่อมสภาพลงในวันนี้ ลองคิดดูสิว่า พอเรามีรถ BMW แล้ว เราต้องมีภาระกับรถมากแค่ไหน ทั้งนำรถไปเช็คระยะ ดูแลความสะอาด ซ่อมแซมมัน - นี่แหละคือ พอเรา "มี (และเป็น)" อะไร มันจะทุกข์เพราะเราไม่อยากให้มันเปลี่ยน

เมื่อใช้รถไป 7-8 ปีเราก็เริ่มอยากขายรถ BMW คันนี้เพื่อซื้อรถใหม่ กว่าจะขายได้ เราต้องไปลงโพสต์ หาคนที่พร้อมซื้อ รอคอย - อันที่จริงเราอยากให้เวลาผ่านไปเร็วๆ คนที่เหมาะสมจะได้เข้ามาเห็นโพสต์เรา - นี่แหละคือ เราเป็นทุกข์เพราะ "อยากให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างใจเรา"

สรุปคือ แม้ว่าเราจะ "กลัว (ไม่อยากให้อะไรเปลี่ยน)" หรือ "คาดหวัง (อยากให้ทุกสิ่งเปลี่ยน)" มันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้นเลย เอ...แล้วเราจะใช้ชีวิตต่อไปยังไงดี จะต้อง Swing ไปมาระหว่างสองอย่างนี้ตลอดเลยหรอ ชีวิตไม่สนุกเลย

ในจุดนี้เองที่เราต้องทำความเข้าใจ "สาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)" จริงๆ แล้ว ไอ้เจ้าความอยากได้ อยากมี อยากเป็น (ตัณหา) มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่แว้บเข้ามาในความรับรู้ของเรา แต่เรา "ไม่ถือว่ามันเป็นตัวเรา ของเรา" ก็ได้นี่!

สาเหตุที่เรายังยึดติดสิ่งต่างๆ เพราะเรามี "อวิชชา" คือ ความไม่รู้ ไม่รู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่รู้ว่าโลกและชีวิต Function ยังไง

เมื่อใดที่เราเห็น "ไตรลักษณ์" ในสรรพสิ่งที่เรามี เราเป็น ว่ามันเป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์ จาก 2 ขั้วของความอยากที่กล่าวไปข้างต้น) และ อนัตตา (ไม่ได้เกิดจากตัวเราอย่างเดียว มีปัจจัยแวดล้อมรวมกันให้เกิดขึ้น) เราจะคลายทุกข์ตรงนั้นทันที

วันนี้เราได้รับบทเรียนนี้พอดี เรื่องมีอยู่ว่า เพื่อนเราเตือนว่า เรามีนิสัยชอบทำเนียนๆ ไปกับคนอื่น ไม่ค่อยมีจุดยืนของตัวเอง - พอฟังแบบนี้ ถ้าเป็นคุณจะรู้สึกยังไง? โกรธมั้ย? ใช่เลย เบื้องต้นมันต้องโกรธอยู่แล้ว ทำไมเราอยู่ของเราดีๆ ถึงมีคนมาจี้จุดให้เรารู้สึกไม่ดี?

พอรู้ตามนั้น เราเลยนั่งพิจารณาทุกข์นี้อยู่ครู่หนึ่ง: เอ..ที่เราโกรธเพราะเรารู้สึกว่าคำติเตียนนั้นมันพุ่งมาที่ "ตัวตน" ของเรา แต่ทีนี้ ก็มีคำถามต่อว่า "ตัวตน" นี้มีจริงมั้ย? รวมถึง ตัวตนที่เคยทำเนียนๆ ทำตัวไร้หลักการ อันนั้นมันจะเป็นตัวตนจริงๆ ของเรามั้ย

แล้วพอพิจารณาสักพัก ก็ได้ความว่า ตัวตนที่เคยทำผิดตรงนั้น มันเกิดจากปัจจัยต่างๆ มาประชุมกัน มาปรุงแต่งขึ้นเป็นการกระทำ ถ้าศึกษาลึกลงไปจะเจอคำว่า "อนุสัย" คือ พื้นจิตที่สะสมความเคยชินต่างๆ - พอมาดูแบบนี้เลยเข้าใจว่า เออ...นิสัยบางอย่างมันเกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ เหมือนปรากฏการณ์ฝนตกฟ้าร้อง มันเกิดขึ้นเอง (เป็นอนัตตา) และแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ (อนิจจัง) คนที่เคยทำผิดคนนั้น พอมาถึงจุดนี้ เขาก็เปลี่ยนไปแล้ว

รวมทั้งคนที่โดนเตือนคนนี้ก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง ทุกสิ่งมาประชุมกันให้เกิดความโกรธ - ความโกรธนี้ก็เป็นปรากฏการณ์เหมือนฝนตกฟ้าร้อง คือ เกิดขึ้นแล้วดับทันที

แต่สิ่งที่ทำให้ใจเป็นทุกข์คือ เรา "ยึดมั่นถือมั่น" ว่า ความโกรธต่างๆ อนุสัยต่างๆ เป็นของเรา พอสิ่งเหล่านี้โดนกระทบ เราเลยออกตัวแทนทันที และพยายามจะควบคุมมันไม่ให้เปลี่ยน หรือ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

พอคิดได้แบบนั้น ใจก็คลายลง ก็เลยเมสเสจไปบอกเพื่อนว่าขอบคุณที่เตือน เพราะอนุสัยต่างๆ การกระทำต่างๆ นั้น เรามีสิทธิ์ และมีอิสรภาพที่จะแปรเปลี่ยนให้มันกลายเป็นปัญญาได้ เหมือนที่พระบอกว่า "ทุกข์กระทบ ธรรมกระเทือน" จิตก็เริ่มเป็นกุศล ยินดีว่า มีคนคอยช่วยตักเตือนเรา และเราก็สามารถเป็นกัลยาณมิตรที่ตักเตือนเขาได้เช่นกัน

นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากทุกข์ นั่นคือ เราดำรงอยู่เพื่อแปรเปลี่ยนทุกข์เป็นปัญญา แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น เราต้องเข้าใจทุกข์ และสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ให้ดีเสียก่อน แล้วเราจะลดหรือปล่อยมือจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ได้ กระบวนการนี้เป็นพลวัตร ต้องทำอยู่เรื่อยๆ ไปจนวันตาย - อย่าเพิ่งเหนื่อยกันนะ เพราะมันสวยงามเหมือนการที่ดอกไม้ได้รับดิน น้ำ อากาศ แล้วแปรเปลี่ยนมันเป็นพลังงานจนดอกไม้บานออกมา - เราอยู่ที่นี่เพื่อ "แปรเปลี่ยน" และกระบวนการแปรเปลี่ยนนี่แหละที่งดงาม

ไว้บทความหน้ามาต่อเรื่อง นิโรธ กับ มรรค